" รู้อย่างช่าง สร้างอย่างปราชญ์ "

 


Knowledges



Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
Banner Web eBuild
หน้าหลักบทความ     บทความเกี่ยวกับหลังคา ผนัง เพดาน  
Article Roof of The House รู้หน้า รู้หลัง (คา)

วันที่ลง : 20-Mar-2012

“หลังคา” เป็นส่วนประกอบหนึ่งของอาคารที่มีความสำคัญมาก ทั้งในเรื่องของการป้องกันความร้อน ฝน ลม และความหนาวเย็น รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้อาคารได้เป็นอย่างดี โครงสร้างและวัสดุที่นำมาทำเป็นหลังคาควรเลือกชนิดที่ทนไฟ ทนทานต่อสภาพอากาศภายนอก และเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี โดยทั่วไปบริเวณใต้หลังคาควรมีพื้นที่เพียงพอต่อการติดตั้งอุปกรณ์ของงานระบบต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ โดยมีระยะห่างระหว่างฝ้ากับหลังคาอย่างน้อย 30 เซนติเมตรขึ้นไป
         

สำหรับรูปแบบของหลังคาที่เรามักเห็นและนิยมกัน ได้แก่ หลังคาจั่ว (Gable Roof) หลังคาปั้นหยา (Hip Roof) หลังคาคอนกรีตเรียบ (Flat Slab Roof) เป็นต้น การพิจารณาว่าจะเลือกใช้หลังคาแบบใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งรูปแบบของอาคารด้วยเช่นกัน
สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกรูปแบบหลังคาที่เหมาะกับบ้านในเมืองไทย
              1. ควรมีชายคายื่นออกมามากพอที่จะป้องกันแสงแดดและไม่ให้ฝนสาดเข้ามาทางหน้าต่างบ้านทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกซึ่งมีแดดจัดที่สุด
              2. หลังคาไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป และควรมีความลาดชันมากพอที่จะทำให้น้ำฝนไหลลงได้สะดวก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมหลังคาได้ง่าย
              3. รูปแบบของหลังคาไม่ควรซับซ้อนมากเกินไป เพราะจะมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมของน้ำตรงรอยต่อของหลังคาได้
              4. พื้นที่ใต้หลังคาต้องใหญ่พอที่จะให้มวลอากาศร้อนซึ่งลอยสูงไม่ส่งผ่านไปยังห้องด้านล่างได้เร็ว และต้องมีการระบายอากาศเพื่อให้อากาศร้อนใต้หลังคาถ่ายเทออกนอกบ้านได้ โดยอาจทำช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วของหลังคาหรือฝ้าที่ชายคา และอาจติดฉนวนกันความร้อนบริเวณใต้หลังคาร่วมด้วย ก็จะช่วยให้บ้านมีสภาวะน่าสบายมากขึ้น ปัจจุบันฉนวนกันความร้อนมีให้เลือกใช้หลายแบบ อาทิ แบบใยแก้ว และแบบพอลิเอทีลีน

หลักการออกแบบหลังคาที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดี
- ใช้หลังคาทรงสูง มีความชันตั้งแต่ 30 - 45 องศา
- อย่านำหลังคาหลายชนิดมาประกอบกัน เพราะรอยต่อที่เกิดขึ้นคือจุดอ่อนที่อาจทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำฝน
- โครงหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐานตามรูปลักษณ์ของหลังคามีโอกาสมากที่จะเกิดการแอ่นตัว เป็นเหตุให้น้ำรั่วซึมลงมาได้ จึงต้องพิจารณาถึงขนาดและความแข็งแรงของโครงสร้างด้วย
- องค์ประกอบต่างๆของหลังคาเป็นจุดอ่อนที่ฝนจะไหลผ่านได้ จึงควรออกแบบองค์ประกอบนั้นๆให้กันน้ำฝนได้
- หลังคาแบนใช้ได้กับบ้านทุกแบบ แต่หลังคาประเภทนี้มีการถ่ายเทน้ำได้ช้า รอยเจาะท่อระบายน้ำต่างๆ เป็นจุดอ่อนที่จะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ง่าย รวมถึงแนวเชื่อมชนกับโครงสร้างต่างๆก็เป็นจุดอ่อนที่น้ำจะขังและค่อยๆซึมผ่านตัวพื้นหลังคาลงไปได้

รูปแบบของหลังคา
หลังคาจั่ว (Gable Roof)
               ผืนหลังคามีความลาดเอียงสองด้านชนกันที่ปลายสูงสุดของหลังคา สันสูงอยู่ตรงกลาง เป็นหลังคาบ้านที่นิยมใช้กันทั่วไป เหมาะกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของบ้านเรา เพราะจะมีมวลอากาศอยู่ใต้หลังคามาก จึงเป็นเหมือนฉนวนกันความร้อนได้อย่างดี หากเจาะช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วทั้งสองด้านก็จะช่วยระบายอากาศร้อนออกไปได้ดียิ่งขึ้น ก่อสร้างก็ง่าย กันแดดกันฝนได้ดี
Tip : จั่วกลายพันธุ์ อาจมีการดัดแปลงบางส่วนของหลังคาให้ดูต่างไปจากหลังคาจั่วปกติ เช่น ตัดปลายชายคาให้โค้งมน การยื่นชายคาสองข้างยาวไม่เท่ากัน หรือการออกแบบให้หลังคาทั้งสองด้านมีความลาดเอียงไม่เท่ากัน ไอเดียเหล่านี้สร้างความแปลกใหม่และน่าสนใจให้หลังคาบ้าน โดยที่ยังสามารถกันแดดกันฝนได้เช่นเดิม

หลังคาปั้นหยา (Hip Roof)
                หลังคารูปแบบนี้มีด้านลาดเอียงสี่ด้านขึ้นไปชนกัน ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถกันแดดกันฝนได้ทุกด้าน สวยงาม ทนต่อการปะทะของแรงลมได้ดี แต่ไม่มีหน้าจั่วเพื่อระบายอากาศร้อน ดังนั้นอาจแก้ไขได้ด้วยการติดระแนงไม้บริเวณฝ้าชายคา อย่างไรก็ตามหลังคาแบบนี้มีจุดเชื่อมต่อมากกว่าหลังคาแบบอื่นๆ อาจทำให้เกิดปัญหารั่วซึมได้มากกว่าหากช่างติดตั้งไม่มีความชำนาญ
Tip : เสริมความสวยงามให้ปลายชายคา อาจใส่ลูกเล่นหรือรายละเอียดเพิ่มเติมให้หลังคาดูน่าสนใจขึ้นได้ ด้วยการใช้เหล็ก อะลูมิเนียม หรือไม้ปิดส่วนปลาย เก็บรอยต่อของฝ้าชายคาและปลายกระเบื้องหรือวัสดุมุงแผ่นสุดท้าย แต่วัสดุที่เลือกใช้ต้องมีความทนทาน สามารถโดนแดดและฝนได้

หลังคาเพิงหมาแหงน (Lean – To Roof)
                หลังคาที่มีองศาลาดเอียงเพียงด้านเดียว สมัยก่อนอาจนิยมใช้ในงานก่อสร้างชั่วคราว หรืองานต่อเติมอาคารแบบง่ายๆอย่างบริเวณชานพักนั่งเล่น โรงจอดรถ หรือครัว ปัจจุบันหลังคาทรงนี้เป็นที่นิยมในอาคารทุกประเภท เพราะก่อสร้างง่าย มีรอยต่อน้อย และดูทันสมัย อีกทั้งโครงสร้างหลังคาไม่สลับซับซ้อนเหมือนหลังคารูปแบบอื่น จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องโครงสร้างหลังคา ค่าแรง และเวลา ทว่าอาจบังแดดบังฝนได้จริงๆเพียงทิศทางเดียว (ด้านที่หลังคาลาดต่ำกว่า) อย่างไรก็ตามอาจแก้ไขด้วยการทำระแนงหรือกันสาดเพิ่มในส่วนด้านที่สูงกว่าก็ได้
Tip : ช่องระบายใต้ฝ้าชายคา ทำให้บ้านเย็น ดังที่กล่าวไปแล้วว่าบริเวณใต้หลังคาจะมีความร้อนสะสมอยู่ในมวลอากาศ หากหาทางระบายอากาศร้อนเหล่านั้นออกไปได้ก็จะช่วยให้บ้านเย็นขึ้น แนะนำให้ออกแบบฝ้าชายคารอบบ้านเป็นระแนง วัสดุใช้ได้ทั้งไม้จริง ไม้สังเคราะห์ และแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยเว้นร่องกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ให้ลมสามารถระบายออกได้ อย่าลืมติดตาข่ายบนฝ้าเพื่อป้องกันแมลงด้วย

หลังคาปีกผีเสื้อ (Butterfly Roof)

                หลังคารูปแบบนี้ประกอบด้วยหลังคาเพิงหมาแหงนสองผืนหันด้านที่ต่ำกว่ามาชนกัน ไม่ค่อยเหมาะกับสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกชุกแบบเมืองไทยสักเท่าไร เนื่องจากต้องมีรางรองรับน้ำฝนจากหลังคาทั้งสองด้าน ซึ่งมีโอกาสรั่วซึมได้สูง ยกเว้นอาคารที่ต้องการลักษณะเฉพาะที่ดูแปลกตาก็อาจแก้ไขด้วยการทำรางน้ำให้กว้างและลึกขึ้น เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนที่ตกชุกของบ้านเราได้ทัน

หลังคาเรียบ (Flat Slab Roof)
               ส่วนมากเป็นหลังคาคอนกรีต มีลักษณะแบนราบเป็นระนาบเดียวกับพื้น แต่ต้องมีความลาดเอียงเล็กน้อยเทไปยังช่องที่เจาะเพื่อระบายน้ำฝนออกไป หรือเทไปยังท่อระบายบนหลังคา (Roof Drain) นิยมใช้สร้างเป็นหลังคาอาคารประเภทตึกแถว คอนโด และบ้านสไตล์โมเดิร์น พื้นหลังคาสามารถจัดเป็นพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเต็มที่ เช่น วางถังเก็บน้ำ ตากผ้า นั่งเล่น และจัดสวน แต่หลังคาประเภทนี้ดูดซับความร้อนและรับน้ำฝนโดยตรง จึงต้องมีการป้องกันการรั่วซึมที่ดี เช่น การผสมสารกันรั่วซึมในคอนกรีตระหว่างที่เทหลังคา เมื่อคอนกรีตแห้งแล้วให้ทาผลิตภัณฑ์กันรั่วซึมฟลินท์โค้ททับอีกที ไม่ควรนำพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปมาทำหลังคา เพราะมีรอยต่อซึ่งอาจทำให้เกิดการรั่วซึมได้ และหากต้องการลดปัญหาเรื่องความร้อน แนะนำให้ติดตั้งโซลาร์สแล็บบนหลังคา รวมทั้งติดฉนวนกันความร้อนเหนือฝ้าภายในห้องด้วย
Tip : การทำระบบกันซึม มีผลิตภัณฑ์หลายชนิด ทั้งชนิดที่ทาเคลือบผิวเป็นชั้นๆและเป็นวัสดุแผ่นนำมาติดตั้งบนผิวหลังคา วัสดุเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสูง เสริมด้วยตาข่าย จึงช่วยลดความร้อนและป้องกันน้ำซึมได้ดี ควรทำระบบกันซึมตั้งแต่เริ่มสร้างบ้านใหม่ๆ เพื่อป้องกันการแตกร้าว หรือใช้ซ่อมแซมหลังคาเดิมที่พื้นผิวแตกร้าวก็ได้
Tip : การวางแผ่นโซลาร์สแล็บ เป็นแผ่นคอนกรีตที่ทำขาสูงประมาณ 3 เซนติเมตรทั้งสี่มุม ทำให้เกิดช่องว่างใต้แผ่น จึงป้องกันความร้อน ถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี แนะนำให้ทำระบบกันซึมแล้วจึงปูแผ่นโซลาร์สแล็บ ก็จะถือเป็นการป้องกันความร้อนได้ดีที่สุดสำหรับหลังคาประเภทนี้ ทั้งยังสามารถขึ้นไปใช้งานบนดาดฟ้าได้ด้วย

หลังคาทรงอิสระ (Free Form Roof)

               เป็นหลังคาที่ไม่อยู่ในรูปทรงเรขาคณิต ออกแบบมาเพื่อให้หลังคาและตัวอาคารมีความโดดเด่น วัสดุมุงหลังคารูปแบบนี้จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น สามารถบิดโครงและรองรับรูปทรงของหลังคาได้ เช่น แผ่นหลังคายาง มะตอย (Asphalt Shingle) หรือแผ่นโลหะรีดรอน (Metal Sheet) แต่รูปทรงหลังคาที่แปลกตาอาจก่อให้เกิดการรั่วซึมได้ง่ายเช่นกัน ช่างต้องมีความชำนาญพอและใช้ความประณีตในการก่อสร้าง

วัสดุมุงหลังคา
กระเบื้องคอนกรีต หรือกระเบื้องโมเนีย (Monier)
                แข็งแรงทนทานแต่มีน้ำหนักมาก หลังคาที่จะมุงด้วยวัสดุชนิดนี้จึงจำเป็นต้องทำโครงสร้างให้แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของแผ่นกระเบื้องได้ กระเบื้องมุงหลังคาคอนกรีตมีให้เลือกใช้ทั้งแบบลอนโค้งและลอนกาบกล้วย ขนาด 33 x 42 เซนติเมตร น้ำหนักเฉลี่ยแผ่นละ 4 กิโลกรัม ใช้มุงหลังคาในมุมลาดเอียงประมาณ 17 - 18 องศาขึ้นไป บริเวณหัวกระเบื้องมีรูเจาะไว้ (ไม่ต้องเจาะรูนำ) สำหรับใช้ตะปูเกลียวยึดติดกับแปเพื่อความแข็งแรง ด้านข้างมีรางลิ้นเพื่อให้ซ้อนกันสนิท ช่วยป้องกันการรั่วซึมระหว่างแผ่น ส่วนปลายกระเบื้องจะทำเป็นขอบบัวดักน้ำเพื่อป้องกันน้ำฝนไหลย้อนกลับ

กระเบื้องดินเผา
               เป็นวัสดุที่มีอัตราการซึมน้ำมากกว่ากระเบื้องชนิดอื่นๆ เนื่องจากคุณสมบัติเฉพาะตัวของดินซึ่งมีรูพรุนขนาดเล็กมาก จึงทำให้บ้านเย็น ควรเลือกกระเบื้องที่มีการดูดซึมต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ และมีระบบป้องกันน้ำที่ช่วยลดการเกิดราดำและการรั่วซึม กระเบื้องประเภทนี้เหมาะกับอาคารแบบร่วมสมัยที่ดูสบายตาและเย็นสบาย

แผ่นหลังคาไม้ซีดาร์
               เป็นไม้สนชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกในทวีปอเมริกาเหนือ แมลงไม่กินเนื้อไม้ มีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีทั้งรุ่นผิวเรียบและผิวคลื่นที่ดูเป็นธรรมชาติ การติดตั้งให้รองด้วยแผ่นไม้อัดทนความชื้นหรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ และปูแผ่นยางกันน้ำทับอีกชั้น ก่อนติดตั้งแผ่นไม้ควรทาน้ำยาป้องกันแมลงเคลือบอีกครั้ง เพื่อให้เนื้อไม้มีความแข็งแรงและทนทานขึ้น

กระเบื้องเซรามิก
             วัสดุหลักในการผลิตกระเบื้องเซรามิกคือ ดินขาว ซึ่งต้องผ่านกระบวนการอบแห้งเพื่อไล่น้ำและความชื้น ก็จะได้ผงดินเป็นวัตถุดิบขั้นต้นในการผลิต จากนั้นจึงค่อยผสมกับส่วนผสมอื่นที่ช่วยให้มีเนื้อเรียบเนียนและน้ำหนักเบา ก่อนจะนำไปผ่านความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส กระเบื้องเซรามิกจึงมีความแข็งแรงมาก มีขนาดเท่ากันทุกแผ่น น้ำหนักเบา ส่วนใหญ่มักทำสีและเคลือบผิว จึงไม่ต้องการการดูแลมากนัก

แผ่นหลังคายางมะตอย (Asphalt Shingle)
              เป็นวัสดุสังเคราะห์ทำจากไฟเบอร์กลาส ด้านหน้าและด้านหลังหุ้มยางมะตอย น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย สามารถติดโค้งตามรูปทรงของหลังคาได้โดยไม่เกิดปัญหาเรื่องการรั่วซึม แต่ต้องรองด้วยแผ่นไม้อัดทนความชื้นหรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ก่อน แล้วปูแผ่นยางกันน้ำทับอีกชั้น กระเบื้องชนิดนี้มี 2 แบบ คือแบบหนึ่งชั้นและแบบสองชั้น ซึ่งแบบหลังมีความหนามากกว่า

แผ่นโลหะรีดลอน (Metal Sheet)
              วัสดุนี้มีความแข็งแรงและน้ำหนักเบา เฉลี่ย 4 - 6 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เหมาะกับบ้านพักอาศัยที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย แต่ต้องติดตั้งฉนวนเพื่อป้องกันความร้อนและเสียงใต้หลังคา เพราะแผ่นเหล็กมีค่าการนำความร้อนสูงและไม่กันเสียง อีกแบบหนึ่งคือแผ่นหลังคาเหล็กแบบสันลอนสูง ซึ่งใช้ระบบการยึดแผ่นแบบขบล็อก ช่วยลดปัญหาเรื่องการรั่วซึม สามารถทำองศาหลังคาได้ลาดเอียงต่ำสุดถึง 2 องศา ใช้กับอาคารที่มีช่วงเสากว้างๆได้ดี


ขอบคุณที่มา  :  http://www.baanlaesuan.com



TAG :Roof of The House รู้หน้า รู้หลัง (คา),ebuild,article,บทความเกี่ยวกับบ้าน,วัสดุก่อสร้าง,อีบิลด,บทความเกี่ยวกับหลังคา,บทความทั่วไป,หลังคา,สีทาหลังคา,หลังคารั่ว,วัสดุมุงหลังคา,กระเบื้องหลังคา,หลังคามีกี่ประเภท,แบบหลังคา

ร่วมแสดงความคิดเห็น

ชื่อ
Comment
กรุณาป้อนข้อมูลตามที่ปรากฏ

ข้อความในส่วนแสดงความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็นข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของเว็บบอร์ดไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหาย ต่อบุคคล หรือหน่วยงานใด กรุณาส่ง email มาที่ feedback@ebuild.co.thเพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้า มา ณ โอกาสนี้











สินค้าหมวดสถาปัตย์
สินค้าหมวดโครงสร้าง
แหล่งความรู้
eBuild Team
www..co.th
นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล Privacy Policy
Copyright 2009 Ebuild Co., Ltd. All Rights Reserved.